Image
Loading
ข่าวประชาสัมพันธ์
 49 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516


14 ตุลาคม 2565

49 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

เมื่อ 49 ปีที่แล้ว ได้เคยเกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองนั่นก็คือการลุกฮือของประชาชนเพื่อขับไล่รัฐบาลทหารทหารที่ครอบครองอำนาจอย่างยาวนานกว่าทศวรรษ ต้นสายปลายเหตุของเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยด้วยกัน กล่าวคือ ภายหลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2501 ได้ทำการยกเลิกกลไกสถาบันทางการเมือง และยกเลิกการมีส่วนร่วมทางการเมือง อันเป็นการ “แช่เข็ง” ทางการเมือง และหันไปใช้การปกครองที่มีลักษณะเด็ดขาดโดยโดยมีตัวของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นผู้ใช้อำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ มาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีดังคำขวัญที่ว่า “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” ต่อมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรม จอมพลถนอม กิตติขจร ได้เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ในขณะที่ไม่มีการพัฒนาทางการเมือง ได้ส่งผลต่อรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่จะต้องเผชิญกับแรงปะทะของความต้องของประชาชนที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง รวมไปถึงกลไปและประสิทธิภาพของรัฐบาลเริ่มลดลง ที่สำคัญบุคลิกภาพของจอมพลถนอม กิตติขจร นั้นไม่ได้มีท่าทีเด็ดขาดเช่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยเหตุนี้จึงมีการปรับท่าทีทางการเมืองคือ มีการผ่อนปรนมากขึ้น และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ในปีพ.ศ. 2511 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างกว่า 10 ปี  และมีการเลือกตั้งในปีถัดมาด้วยการสนับสนุนของพรรคสหประชาไทจึงส่งผลให้จอมพลถนอม กิตติขจร กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง แต่ก็ต้องเผชิญกับแรงต้านจากหลายกลุ่ม เมื่อการเมืองเปิดให้มีระบบรัฐสภา ในท้ายที่สุดจอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้ทำการรัฐประการรัฐบาลตัวเอง
    อย่างไรก็ตามผลสืบเนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2500 ได้ก่อให้เกิดคนกลุ่มใหม่คือกลุ่ม “ปัญญาชน” ที่มีสำนึกต่อความเจริญของบ้านเมือง ในขณะที่ในทางการเมืองนั้นมีท่าทีจะมีการสืบทอดอำนาจทางการเมืองภายในกลุ่มทหารด้วยกันเอง ขณะที่วิกฤตความชอบธรรมก็ได้เริ่มปะทุขึ้นเมื่อรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหางเศรษฐกิจได้ ยิ่งไปกว่านั้นเกิดเหตุการณ์ กรณีเฮลิคอปเตอร์ตกที่ทุ่งใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนและผู้พัวพันกับเหตุการณ์ดังกล่าวประกอบไปด้วย นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงพลเรือน ที่เข้าไปล่าสัตว์ในพื้นที่ป่าสงวน ต่อมากลุ่มนักศึกษาได้ร่วมกันพิมพ์หนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2516 เป็นหนังสือที่มียอดขายถล่มทลาย และเปิดโปงการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของอภิสิทธิ์ชนในสังคม และเป็นชนวนที่นำไปสู่การออกมาชุมนุมอย่างต่อเนื่องของประชาชน 
    เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เริ่มต้นขึ้นจาก การเดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญของนักศึกษากลุ่มหนึ่ง ในวันที่ 6 ตุลาคม จนนำไปสู่การถูกจับกุม ผลจากการจับกุมส่งผลให้มีการชุมนุมโดยศูนย์กลางนิตินักศึกษาแห่งประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการประท้วงครั้งนั้นมีตั้งแต่การอภิปรายโจมตีรัฐบาลและรายบุคคล และจำนวนผู้เข้าร่วมมีจำนวนเพิ่มขึ้น กระทั่งสุดท้ายกลายเป็นการประท้วงที่มีผู้เข้าร่วมหลักแสน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม – 16 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และมีการนองเลือดในช่วงเช้าของวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ท้ายที่สุดเหตุการณ์เริ่มคลี่คลายลงเมื่อมีการประกาศว่า จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ยินยอมเดินทางออกนอกประเทศ อันถือได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของรัฐบาลเผด็จการทหารที่ครองอำนาจกว่าทศวรรษ 


เขียนโดย ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ นักวิชาการสังกัดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

อ้างอิง 
ลิชิต ธีรเวคิน. วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544. 
ประจักษ์ ก้องกีรติ . และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฎ : การเมืองและวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.
ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ :  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526.