Image
Loading
ข่าวประชาสัมพันธ์
“กบฏบวรเดช” ความขัดแย้งเบื้องแรกหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ.  2475


11 ตุลาคม 2565

“กบฏบวรเดช” ความขัดแย้งเบื้องแรกหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475

“กบฏบวรเดช” ความขัดแย้งเบื้องแรกหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ.  2475 
    ย้อนกลับไปในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2476 สยามได้เกิดเหตุการณ์สู้รบกลางเมือง ที่ทหารร่วมมือกับพลเรือนต่อสู้กับทหารที่ร่วมมือกับพลเรือนด้วยกัน โดยผู้ก่อการที่เรียกฝ่ายตนเองว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ได้ยาตราทัพเข้ามาประชิดพระนครเพื่อให้รัฐบาลคณะราษฎรลงจากอำนาจ โดยภายหลังสิ้นสุดเหตุการณ์นี้ได้ถูกเรียกว่า “กบฏบวรเดช” อันเป็นชื่อของแม่ทัพนั่นก็คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม สามารถสรุปสาเหตุของเหตุการณ์นี้ได้ 2 ประการ ประการแรกในระดับความคิด ผู้ก่อการมีความรู้สึกผูกพันอยู่กับพระมหากษัตริย์ และมีความเกรงกลัวว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการเปลี่ยนระบอบการปกครองไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ และมีปรีดี พนมยงค์ เป็นภาพแทนของระบอบดังกล่าว ประการที่สอง ในระดับความสัมพันธ์ทางอำนาจ นายทหารบางคนไม่พอใจอย่างมากที่ถูกปลดออกจากราชการ และคนกลุ่มนี้ได้กลายเป็นกำลังสำคัญของคณะกู้บ้านกู้เมือง รวมทั้งในกลุ่มผู้ก่อการยังมีกลุ่มพลเรือนที่เป็นปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์เข้าร่วมด้วย อาจกล่าวได้ว่าต้นสายปลายเหตุนั้นมาจากการไม่สามารถหาความเห็นพ้องทางการเมืองร่วมกันได้ภายใต้ระบอบการเมืองใหม่หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475

                                              พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

      การเตรียมแผนการยกทัพมาประชิดพระนครนั้นเริ่มต้นขึ้นราว 3 เดือนก่อนเกิดเหตุการณ์ โดยนายทหารในระดับชั้นผู้ใหญ่ได้เป็นผู้รวบรวมและชักชวนทหารจากชั้นหัวเมือง โดยมีแผนการคือยกทัพจากหัวเมืองต่างๆ จากอุบลราชธานี นคราชสีมา สระบุรี อยุธยา นครสวรรค์ พิษณูโลก ปราจีนบุรี เพชรบุรี และราชบุรี เข้ามาล้อมกรุงเทพฯ และทหารในกรุงเทพฯ ก็จะให้ความช่วยเหลือซึ่งจะทำให้สามารถบีบบังคับรัฐบาลได้ง่ายยิ่งขึ้น 
    ทว่า เมื่อตราทัพเข้ามาประชิดพระนครตาม “แผนล้อมกวาง” สถานการณ์กลับพลิกผันรัฐบาลมิได้ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของคณะกู้บ้านกู้เมือง และการเคลื่อนพลของคณะกู้บ้านกู้เมืองมีปัญหาคือไม่สามารถเคลื่อนกองทัพได้ตามนัด และมีความรวนเรภายในคณะ อย่างไรก็ตามก็ได้เกิดการสู้รบกันทั้งทางกำลังโดยใช้อาวุธสมัยใหม่และสงครามจิตวิทยากันทั้งสองฝ่าย หนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2476 ได้บันทึกสถานการณ์ในขณะเกิดการสู้รบว่า 
    “[รัฐบาล] ได้ออกแถลงการณ์ทะยอยกันเกือบแทบทุกระยะชั่วโมงตั้งแต่ตอนกลางวันของวันที่ 12 จนกระทั่งกลางคืนก็ยังมีคำแถลงการณ์ออกจากวังปารุสกวันอยู่เรื่อยๆ มีรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ออกวิ่งแจกจ่าย วิทยุกระจายเสียงก็อ่านคำแถลงการณ์นั้นโดยด่วน หนังสือพิมพ์ต่างๆ ขายเปนเทน้ำ” การสู้รบที่ยืดเยื้อเกือบสองสัปดาห์ได้ปิดฉากลงหลังจากการเสียชีวิตของพระยาศรีสิทธิสงครามผู้รับหน้าที่เป็นกองระวังหลังในการปะทะที่สถานีหินลับ หลังจากที่มีถอยทัพออกจากพระนครตั้งแต่ประมาณห้าวันหลังจากยกทัพเข้าประชิดเมือง สาเหตุการปราชัยของคณะกู้บ้านกู้เมืองนั้นได้สะท้อนออกมาให้เห็นจากคำสัมภาษณ์ (Interview) ของพระองค์เจ้าบวรเดช ในหนังสือพิมพ์ไซง่อน ความตอนหนึ่งว่า
            “…พวกนักรบของฉันใจไม่แน่นอน ตกลงแล้วเกิดเปลี่ยนใจเสียหมด ฉันใช้ให้ไปทำอะไรทำไม่ได้ตามคำสั่งเลย…”

เอกสารอ้างอิง 
คณะบรรณาธิการ. 2527. แม่ทัพบวรเดช. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จิรวรรณนุสรณ์
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. 2560. ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475. นนทบุรี: ฟ้า    เดียวกัน.
หนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2476

 

 “หลักความมุ่งหมาย 6 ประการ”
1.    ต้องจัดการทุกอย่างที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกาลปาวสาน
2.    ต้องดำเนินโดยรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ การตั้งและถอดถอนคณะรัฐบาลต้องเป็นไปโดยเสียงหมู่มาก ไม่ใช่ทำโดยการจับอาวุธดังที่แล้วมา โดยเหตุนี้ต้องยอมให้มีคณะการเมืองที่ชอบด้วยกฎหมาย
3.    ข้าราชการซึ่งอยู่ในตำแหน่งประจำการ ทั้งทางทหารและพลเรือน ต้องอยู่นอกการเมือง เว้นแต่ผู้อยู่ในตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่อยู่ในการเมืองโดยตรง แต่ความข้างต้นนั้นไม่ตัดสิทธิในการที่ข้าราชการประจำจะยึดถือลัทธิการเมืองใดๆ ที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ห้ามมิให้ใช้อำนาจหรือโอกาสในตำแหน่งหน้าที่เพื่อนสนับสนุนเผยแพร่ลัทธิที่ตนนิยม หรือบังคับขู่เข็ญโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้ผู้อื่นถือตามลัทธิที่ตนนิยมนั้นเป็นอันขาด ตำแหน่งฝ่ายทหารตั้งแต่ผู้บังคับบัญชาการทหารบก ทหารเรือลงไป ต้องไม่มีหน้าที่ในการเมือง
4.    การแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งราชการ จักต้องถือคุณวุฒิความสามารถเป็นหลัก ไม่ถือเอาความเกี่ยวข้องในทางการเมืองเป็นความชอบ หรือเป็นข้อรังกียจในการบรรจุหรือเลื่อนตำแหน่ง
5.    การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก
6.    การปกครองกองทัพบกจักต้องมีหน่วยผสมตามหลักยุทธวิธี เฉลี่ยอาวุธสำคัญแยกกันไปประจำตามท้องถิ่น มิให้กำลังส่วนใหญ่อยู่เฉพาะแห่งใดแห่งหนึ่ง